Review Jamis Zenith Comp & Jamis Zenith Race
Review Jamis Zenith Comp & Jamis Zenith Race
19 ตุลาคม 2559
รถรุ่นนี้เป็นรถเสือหมอบในตระกูลสูงสุดของแบรนด์ Jamis อเมริกา ผมมีโอกาสได้เทส 2 รุ่น (ซึ่งทั้ง 2 รุ่นมาเป็น Complete Bike) คือ Jamis Xenith Comp (เฟรมคาร์บอนเกรด Medium Modulus T700/FRP อะไหล่เป็น Shimano 105 -11 speed) กับ Jamis Xenith Race (เฟรมคาร์บอนเกรด High Modulus M30/T700 อะไหล่เป็น Shimano Ultegra - 11 speed)
คันแรก Jamis Xenith Comp ที่ทดสอบ เริ่มแรกผมเปลี่ยนล้อติดรถออก (เป็นล้อ Alexrims AT470 ซี่ลวดกลมที่เน้นความแข็งแรง) ไปใช้ล้อ Oseous Commuter น้ำหนัก 1,510g ยาง Continental 4000S คู่ที่ใช้ซ้อมอยู่ตลอดในปีที่ผ่านมา และเปลี่ยนขาจานเป็น Dura-Ace 172.5 (ขาจานติดรถไซส์ 51 มีขนาด 170 มม.) เปลี่ยนสเต็มไปใช้ความยาว 130 มม. ที่เหลือเป็นอุปกรณ์เดิม น้ำหนักรถทั้งคันรวมบันไดชั่งได้ 8.2 กิโลกรัม
 
สำหรับรถตระกูล Jamis Xenith นี้ผมมองว่าเป็นรถกึ่ง Aero กึ่ง All-round คือออกแบบเฟรมให้มีความลู่ลมอยู่พอควร สังเกตจากรูปทรงของตะเกียบหน้าที่มีลักษณะแบน การย้ายก้ามเบรคหลังไปไว้ใต้กระโหลก และการวางตำแหน่งติดตั้งขากระติกไว้ต่ำลงกว่าปกติ ทำให้มีความแอโรไดนามิคส์ที่ดีระดับหนึ่ง ในการขี่ที่ความเร็วสูงๆนั้นรู้สึกได้ว่าตัวเฟรมนั้นช่วยให้คงความเร็วได้ดี ตัวเฟรมมีความสติฟ สามารถตอบสนองต่อการกดเค้นหนักๆได้โดยที่ไม่รู้สึกย้วย ซึ่งน่าจะเป็นด้วยขนาดของห้องกระโหลกและเชนสเตย์ที่ดูบึกบึนมาก ส่วนของหางหลังนั้นออกแบบมาเป็นทรงแบนเรียวเพื่อเพิ่มความสบายในการขี่ (แต่ก็ยังคงดูแข็งแรงดี)


ในการขี่เป็นระยะทางไกลๆ สำหรับเฟรมตัวนี้นั้นรู้สึกได้ว่าค่อนข้างจะสบายตัว ไม่ล้า ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเกิดจากความสมดุลย์ระหว่างความแข็งของเฟรมที่ไม่ได้มากจนเกินไป - กับความสบายตัว ซึ่งสำหรับผมที่ชอบปั่นซ้อมเป็นระยะทางไกลๆ อยู่ทุกๆวันจะให้ความสำคัญในจุดนี้มาก และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาหากเป็นการแข่งหรือการซ้อมซึ่งมีระยะทางไกล ยิ่งถ้าเป็นเส้นทางที่มีลักษณะเป็นภูเขาด้วยแล้ว เฟรมที่แข็งมากเกินไปนั้นจะทำให้เรารู้สึกล้าและหมดแรงในช่วงท้ายๆ ซึ่งถือว่า Jamis Xenith สามารถสอบผ่านในเรื่องนี้ได้ดีระดับหนึ่ง (คือแม้จะไม่สบายตัวเหมือนเฟรม All-round แท้ๆ แต่ก็ยังคงทำได้ดี ไม่ได้รู้สึกล้าเร็วมาก และยังได้ความแอโร่ของเฟรมเพิ่มขึ้นมาช่วยในการปั่นทำความเร็วสูง)
 
หลังจากที่ได้ทดสอบแล้วว่าเฟรมตัวนี้นั้นดีพอที่จะใช้ในการแข่งขัน ทางทีม Cycam ก็ได้ประชุมกันและตัดสินใจเปลี่ยนให้นักแข่งในทีมได้ใช้รถ Jamis รุ่น Xenith นี้แทน โดยเป็น Jamis Xenith รุ่น Race (เฟรมคาร์บอนเกรด High Modulus M30/T700 อะไหล่เป็น Shimano Ultegra - 11 speed) ในส่วนของผมนั้นเป็นรถไซส์ 51 เหมือนเดิม เปลี่ยนขาจานเป็น Dura-Ace ความยาว 172.5 (ขาจานติดรถไซส์ 51 มีขนาด 170 มม.) เปลี่ยนเบาะรางคาร์บอน ก้ามเบรคหน้าเป็น Dura-Ace เปลี่ยนแฮนด์เป็น 3T คาร์บอน เปลี่ยนเปลี่ยนสเต็มไปใช้ความยาว 140 มม. ที่เหลือเป็นอุปกรณ์เดิม ล้อที่ใช้ซ้อมก็ใช้ล้อเดิม-ยางเดิมที่ให้มา (ล้อ Mavic Aksium - ยาง Vittoria Zaffiro Pro Slick 23C) น้ำหนักรถทั้งคันรวมบันไดชั่งได้ 7.5 โล
 
สำหรับรถทั้ง 2 รุ่นที่ผมได้ใช้ทดสอบทั้ง Jamis Xenith Comp และ Jamis Xenith Race นั้น แม้จะใช้อะไหล่ที่แตกต่างกันอยู่บ้าง เกรดของคาร์บอนที่ระบุมาบนเฟรมนั้นก็แตกต่างกัน (Medium Modulus T700/FRP กับ High Modulus M30/T700) น้ำหนักรถทั้ง 2 คันที่ประกอบมาก็แตกต่างกันมากถึง 7 ขีด (8.2 โล กับ 7.5 โล)
แต่ความรู้สึกที่ผ่านมาที่ผมใช้ในขี่การซ้อมนั้นไม่ได้รู้สึกแตกต่างกันเท่าไหร่ อาจจะด้วยคันแรก Jamis Xenith Comp เป็นรถที่ใช้อุปกรณ์ที่หนัก แต่ล้อและยางนั้นได้เปลี่ยนให้เบาและดีกว่าพอควร (ล้อ Oseous Commuter น้ำหนัก 1,510g ยาง Continental 4000S) ส่วนอีกคัน Jamis Xenith Race นั้น เป็นรถที่เบา แต่ใช้ล้อและยางติดรถเดิมๆ ที่หนักกว่ามาก (ล้อ Mavic Aksium - ยาง Vittoria Zaffiro Pro Slick 23C) การตอบสนองจึงพอๆกัน อีกทั้งการออกแบบเฟรมทั้ง 2 รุ่นนั้นก็มีลักษณะเหมือนๆกัน โดยก้ามเบรคหน้ายังคงเป็นแบบปกติ (แต่หากเป็น Jamis Xenith Pro ก้ามเบรคจะเป็นแบบซ่อนหลังตะเกียบ) ถ้าจะมีความแตกต่างอยู่บ้างผมคิดว่า Jamis Xenith Comp นั้นขี่สบายตัวกว่าเล็กน้อย ซึ่งอาจเป็นเพราะเกรดคาร์บอนที่สติฟน้อยกว่า แต่ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ความแตกต่างที่ควรพิจารณาจึงเป็นอุปกรณ์ที่ให้มา กับงบประมาณที่วางไว้ ซึ่งทั้ง 105 กับ Ultegra นั้นสามารถใช้งานได้ดีทั้งคู่ แต่ถ้าเป็น Jamis Xenith Comp ผมคิดว่าการลงทุนเปลี่ยนล้อติดรถให้ดีขึ้นนั้นจะทำให้ขี่สนุกขึ้นมากครับ